204 จำนวนผู้เข้าชม |
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี จากสถิติผู้สูงอายุของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.67 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากถึง 13.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 20.70 จากประชากรทั้งหมด ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดโครงการพัฒนารูปแบบส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) และผู้สูงวัยในรูปแบบชีวิตใหม่ ซึ่งร่วมกับ ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จัดทำคู่มือการออกกำลังกาย สำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่ผู้สูงอายุ (วัยกลางคน) และคู่มือการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างการมีสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ผ่านกิจกรรมทางกายอย่างถูกต้อง รวมถึงจัดกิจกรรมบนพื้นที่การเคหะแห่งชาติ โดยภายในงานร่วมรับฟังบรรยายในหัวข้อ“สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ”, “มาสร้างชีวิตที่ดีก่อนวัยสูงอายุ” รวมถึงฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุและวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) จาก ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ และคณะ และ “กินอย่างไรให้สุขภาพดี” จาก อ.ณัฐนรี กระบวนรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมี นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสันทนาการ การเคหะแห่งชาติ
ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า โครงการพัฒนารูปแบบส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) และผู้สูงวัยในรูปแบบชีวิตใหม่
เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งและเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้คนวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) และผู้สูงอายุ ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน ผ่านคู่มือการออกกำลังกาย สำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่ผู้สูงอายุ (วัยกลางคน) และคู่มือการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) ยังขาดการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ จึงเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นโครงการฯ นี้จะช่วยทำให้ทุกคนได้มีมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของตนเอง
“สำหรับโครงการพัฒนารูปแบบส่งเสริมกิจกรรมทางกายฯ จะสร้างความรู้ และแนะนำวิธีการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมทางกายอย่างถูกต้อง สำหรับบุคคล 2 ช่วงวัย ได้แก่ วัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) มักจะมีวิถีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงานเป็นหลัก จึงมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง เนื่องจากต้องนั่งทำงาน หรือประชุม เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 30 - 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มถดถอย กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้การออกกำลังกายจึงมีความสำคัญต่อการช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ และโครงสร้างร่างกาย พร้อมกันนั้นยังช่วยป้องกันปัญหาที่เกี่ยวกับกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงในการเคลื่อนไหวและการทรงตัว รวมถึงการออกกำลังกายด้วยแรงต้านทาน หรือการฝึกด้วยน้ำหนักจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อสุขภาพของคนในวัยนี้
โดยในช่วงวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) จำเป็นต้องมีหลักการออกกำลังกายที่เหมาะสม (FITT Principle) โดยแบ่งเป็น 4 ประการ ได้แก่ 1. ความถี่หรือความสม่ำเสมอในการออกกำลังกาย (Frequency) 2. ความหนักหรือความเข้มข้นในการออกกำลังกาย (Intensity) 3. ระยะเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง (Time) และ 4. ประเภทของการออกกำลังกาย (Type) รวมถึงควรจะเลือกกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่เหมาะสม โดยเน้นไปที่กล้ามเนื้อหลัก 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกล้ามเนื้อต้นขา, สะโพก, หลัง, หน้าท้อง, อก, ไหล่ และต้นแขน ซึ่งหลังการออกกำลังกายทุกครั้งควรตามด้วยการยึดเหยียดกล้ามเนื้อเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มระยะการเคลื่อนไหวและความยืดหยุ่นตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้ นอกจากนี้เหล่าคนวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) ที่ชื่นชอบและรักการออกกำลังกาย จะได้เข้าใจหลักการและมีแรงบันดาลใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอย่างถูกวิธีเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพื่อการมีสุขภาพที่ดีและนำไปสู่การใช้ชีวิตในการทำงานอย่างมีความสุขโดยปราศจากปัญหาด้านสุขภาพ
ด้านวัยผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะสูญเสียความยืดหยุ่นตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ซึ่งทำให้มีอาการเจ็บปวดได้ง่าย โดยจำเป็นต้องหาทางเลือกออกกำลังกายที่เหมาะสมทั้งรูปแบบ วิธีการ และระดับความหนักเบา ไม่จำเป็นต้องทำตามหรือเลียนแบบผู้อื่น เพื่อที่จะให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีหรือแข็งแรง แต่ควรหาวิธีที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการออกกำลังกายให้กับตนเองได้อย่างเป็นประโยชน์มากที่สุด
สำหรับการฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและความอ่อนตัวของข้อต่อของผู้สูงวัยนั้นถือเป็นส่วนสำคัญของโปรแกรมการสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายโดยรวม (Total Body Fitness Program) เพราะจะสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บ และลดความแข็งเกร็งกล้ามเนื้อและข้อต่อได้ ยิ่งการเดินหรือการจ๊อกกิ้งจำเป็นต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ และทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ สะโพก ขา เข่า และข้อเท้า เพื่อผ่อนคลาย รวมถึงการรักษาสมดุลทางด้านจิตใจ ให้มีความสดชื่น และรักษาจุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย เพื่อไม่ให้ล้มหรือเสียการทรงตัว พร้อมสร้างเสริมกล้ามเนื้อที่อ่อนแอให้แข็งแรง” ศ.ดร.เจริญ กล่าว
นอกจากนี้ สสส. ยังได้จัดกิจกรรมพัฒนารูปแบบส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) และผู้สูงวัยในรูปแบบชีวิตใหม่ เพื่อให้ความรู้ และแนะนำแนวทางการออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดขึ้น ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 5 เทศบาลตำบลแพรกษา สมุทรปราการ และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสันทนาการ การเคหะแห่งชาติชุมชนห้วยขวาง ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น.
ทั้งนี้ หน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับคู่มือการออกกำลังกาย สำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่ผู้สูงอายุ (วัยกลางคน) และคู่มือการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 095 – 318-7085 หรือ edutainment.project999@gmail.com