287 จำนวนผู้เข้าชม |
กรุงเทพฯ 19 กันยายน 2567 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ เปิดตัวโครงการประกวดสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย “นิลมังกร” รุ่น 3 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี/กิจการเพื่อสังคม/สตาร์ทอัพให้ก้าวเป็น“นิลมังกร” กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และลดอัตราการไหลออกของคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในพื้นที่ พร้อมเปิดพื้นที่ผ่านรายการ “นิลมังกร เดอะเรียลลิตี้ ซีซั่น 3” ในรูปแบบสาระบันเทิง (Edutainment) เพื่อให้มีความน่าสนใจ สามารถเข้าถึง และเข้าใจกระบวนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า “NIA ในฐานะ ‘ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม’ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความต้องการในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมตั้งแต่เริ่มต้นสร้างนวัตกรรมจนสามารถขายได้ และขยายโอกาสเติบโตในตลาด ผ่านแนวทาง 4G คือ Groom พัฒนาทักษะและความพร้อมในการสร้างนวัตกรรม Grant การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อช่วยรับความเสี่ยงในการสร้างนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม Growth สร้างการเติบโตและขยายผลสู่การขายได้หรือระดมทุนด้วยกลไก Non-Financial อื่นๆ เช่น Innomall หรือ นิลมังกร และ Global สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดต่างประเทศผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรได้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการผลักดันประเทศไทยสู่ ‘ชาตินวัตกรรม’ ที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก”
“จากความสำเร็จของโครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมระดับภูมิภาค “นิลมังกร” รุ่น 1 และ 2 ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นให้กับทั้ง 40 แบรนด์นวัตกรรมไทยเฉลี่ยกว่า 2.4 เท่าหรือกว่า 530 ล้านบาทภายใน 1 ปีที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงต่อยอดการสร้างแบรนด์ให้กับผู้ประกอบการจากการคว้ารางวัลในเวทีต่างๆ รวมกว่า 20 รางวัล รวมถึงได้รับการต่อยอดจากนักลงทุนร่วมและนักลงทุนอิสระ เช่น ทรายแมว Hide and Seek, ปลาร้าผงเดอนัว, ที่นอน Kaiteki และเนื้อวัวพรีเมี่ยม “Lam Takhong Black Cow” ซึ่งแบรนด์เหล่านี้เสมือนเป็นตัวอย่างในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่สามารถใช้เครื่องมือทางนวัตกรรมมาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเศรษฐกิจของพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคได้ สำหรับในรุ่น 3 นี้ก็เช่นกัน NIA มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการจากภูมิภาคได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม แผนธุรกิจ ยอดขาย ไปจนถึงการสร้างแบรนด์สินค้า ผ่านการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แล้วนำกลับไปทดสอบกลยุทธ์หรือวิธีการต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อสร้างยอดขายสินค้าบริการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เกิดรายได้และลูกค้าจริง และต้องเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 3 เท่า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครได้ที่ https://arc.nia.or.th/ ตั้งแต่วันนี้ - 15 พฤศจิกายน 2567”
ผศ.ดร. เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “โครงการประกวดสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย รอบภูมิภาค รุ่นที่ 3 (นิลมังกร) นี้ ยังคงมุ่งค้นหาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายใหม่หันมาพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้ธุรกิจนวัตกรรมได้นำเสนอผลงานต่อสาธารณชนและภาคธุรกิจ แต่ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มจำนวน นวัตกรหน้าใหม่และการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง (รวมภาคตะวันออกและตะวันตก) และภาคใต้ มีการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งปีนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีการนำนวัตกรรมหรืออัตลักษณ์พื้นถิ่นที่โดดเด่นเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจที่เข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่เป็นแม่ข่ายหลักประจำภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ /ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 (จังหวัดนครราชสีมา) /ภาคใต้ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคกลาง ศูนย์แบรนด์เคยู คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอี และกลุ่ม Bizclub รวมถึงเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงในการดำเนินธุรกิจฐานนวัตกรรม การสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะเข้าร่วมโครงการนี้ จะช่วยยกระดับธุรกิจนวัตกรรมในภูมิภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืน”